Giant's Causeway ทางเดินยักษ์ - เสาหินหกเหลี่ยมริมทะเลที่ไอร์แลนด์

Giants Causeway Beach, Ireland

Giant's Causeway หรือ ทางเดินยักษ์
       มีตำนานเล่าว่าฟินน์ แม็กคูล ยักษ์แห่งไอร์แลนด์สร้างถนนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากบ้านของตนตรงชายฝั่งเขต แอนทริมในไอร์แลนด์เหนือไปสู่หมู่เกาะเฮบริดิส ซึ่งเป็นปราการของยักษ์สกอตชื่อฟินน์ กอลล์ผู้เป็นศัตรู้คู่อาฆาต ยักษ์แม็กคูลได้รวบรวมแท่งหินยาวหลายร้อยแท่งเพื่อตอกลงไปในพื้นมหาสมุทร เป็นทางเดิน จากนั้นก็กลับไปพักที่บ้านก่อนจะเข้าโจมตีฟินน์ กอลล์ แต่ยักษ์ฟินน์ กอลล์ก็ฉวยโอกาสเดินข้ามจากบ้านในเกาะสแตฟฟาไปไอร์แลนด์เสียก่อน เมื่อภรรยาของยักษ์แม็กคูลล่อให้ยักษ์ฟินน์ กอลล์หลงเชื่อว่ายักษ์ที่กำลังนอนหลับอยู่นั้นคือลูกอ่อนของนาง ยักษ์ฟินน์ กอลล์ก็วิตกว่าหากลูกตัวโตเพียงนี้ ตัวพ่อจะใหญ่สักปานใด จึงหนีกลับไปด้วยความกลัว ทันทีที่ออกสุ่ทะเลอย่างปลอดภัย ยักษ์ฟินน์ กอลล์ก็เริ่มดึงแท่งหินเบื้องหลังตนออกเพื่อไม่ให้ผุ้อื่นใช้ถนนอีกต่อไป

       แม้ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้แล้วว่า “ทางเดินยักษ์” (Giant’s Causeway) มีที่มาอย่างไร แต่ก็ยังพอเข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงเกิดตำนานดังกล่าวข้างต้น เฉพาะขนาดของทางนี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องเป็นสิ่งซึ่งสร้างโดยมือของ ยอดมนุษย์ เมื่อมองจากอากาศ เราจะเห็นทางยาว 275 ม. เลียบชายฝั่ง แล้วยื่นออกไปในมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศเหนือเป็นระยะทางยาว 150 ม. แท่งหินในทางเดินส่วนใหญ่สูง 6 ม. แต่บางแห่งจะสูงกว่านั้นถึงสองเท่า ลักษณะที่แท่งหินหลายแท่งมาประกบกันนั้นน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก แท่งหินบะซอลต์ราว 40,000 แท่งซึ่งล้วนมีรูปร่างหลายเหลี่ยมด้านเท่า แต่ส่วนใหญ่เป็นรูปหกเหลี่ยม ประสานสอดกันสนิทจนยากจะเสียบใบมีดลงไประหว่างรอยต่อได้



       ปลายอีกด้านหนึ่งของถนนแม็กคูลซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง 120 กม. คือที่ตั้งของเกาะสแตฟฟา เกาะนี้ล้อมรอบด้วยหน้าผาหินสูง 40 ม. ตัวผาประกอบด้วย แท่งหินบะซอลต์เช่นเดียวกับทางเดินยักษ์ ที่เกาะมีถ้ำฟิงกอล (Fingal’s Cave) ซึ่งนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษชื่อ เซอร์โจเซฟ แบงก์สตั้งชื่อให้ตามยักษ์ฟินน์ กอลล์ ถ้ำนี้เจาะลึกเข้าไปในเกาะ 60 ม. ทั้งพื้น ผนัง และหลังคาถ้ำล้วนเกิดจากแท่งหินบะซอลต์สีดำ


      แท่งหินที่ทางเดินยักษ์นี้เกาะกลุ่มกันเป็นหาดธรรมชาติสามหาดเรียกว่า ทางเดินใหญ่ (Grand Causeway) ทางเดินกลาง (Middle Causeway) และทางเดินเล็ก (Littel Causeway) หินบ้างก้อนที่หาดทั้งสามนี้ มีชื่อแปลกๆ ตามรูปทรง เช่น “เก้าอี้สารพัดนึก” “พัด” “ยอดปล่องไฟ” หินที่มีชื่อสมตัวมากคือ “ออร์แกนของยักษ์” ซึ่งสูงพ้นดินขึ้นมา 12 ม. ทำให้มีรูปร่างเหมือนปล่องออร์แกนในโบสถ์

      บิชอปแห่งเดรีค้นพบทางเดินยักษ์ในปี ค.ศ.1692 แม้จะมีผู้เดินทางมาชมสถานที่นี้บ้างในคริสต์วรรษที่ 18 แต่ก็ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งถึงปลายศตวรรษ ในเวลานั้นภาพวาดทั้งแบบลายเส้นและภาพสีที่เหมือนจริงซึ่งวาดขึ้นโดยคำสั่ง ของเฟรเดอริก เฮอร์วีย์ เอิร์ลบิชอปแห่งเดรี และโดยคำสั่งสมาชิกสมาคมดับลินและราชสมาคมแห่งสหราชอาณาจักร” ทำให้ทั้งนักวิทยาศาสตร์และประชาชนทั่วไปหันมาสนใจแท่งหินประหลาดเหล่านี้ หนึ่งในผู้มาเยือนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้แก่ วิลเลียม แธเคอเรย์ นักเขียนนวนิยายผู้บรรยายว่าหินเหล่านี้ดู “ราวกับว่ามีอมตเทวีในเทพนิยายเก่าแก่ถูกขังอยู่ภายในโดยมีมังกรเฝ้าอยู่”


       นอกไปจากตำนานแล้ว มีผู้เสนอทฤษฎีต่างๆ เพื่ออธิบายถึงที่มาของทางเดินยักษ์ ครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่าทางเดินนี้เป็นป่าไผ่ซึ่งกลายเป็นหิน หรือเกิดจากแร่ธาตุในน้ำทะเลตกตะกอนทับถมกัน แต่ปัจจุบันนักธรณีวิทยาส่วนมากเห็นพ้องต้องกันว่าทางเดินนี้เกิดจากภูเขาไฟ เมื่อประมาณ 50 ล้านปีมาแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์เหนือและสกอตแลนด์ตะวันตกเป็นดินแดนอันเต็มไป ด้วยภูเขาไฟที่คุกรุ่น ช่องในเปลือกโลกเปิดออกครั้งแล้วครั้งเล่า ปล่อยลาวาออกมาไหลท่วมผืนดิน ลาวาที่ท่วมมีความลึกกว่า 180 ม. เมื่อลาวาเย็นลงก็จะแข็งตัว ลาวที่ไหลออกมาใหม่ก็จะมาทับถม ลาวาหลอมเหลวซึ่งถมทับพื้นหินบะซอลต์ราบจะเย็นลงและหดตัวอย่างเชื่องช้าและ สม่ำเสมอ สารประกอบทางเคมีในลาวาบอกให้ทราบว่าความกดดันที่เกิดขึ้นในผิวที่กำลังเย็น ลง กระจายจากจุดศูนย์กลางออกไปในอัตราเท่าๆ กัน ลาวจึงแยกจากกันเป็นรูปเหลี่ยมที่มีด้านแต่ละด้านเท่ากัน ส่วนใหญ่มักเป็นรูปหกเหลี่ยม ปฏิกิริยาเช่นนี้ครั้งเดียวจะเป็นแม่แบบให้เกิดปฏิกิริยาครั้งต่อๆ ไป ทำใหเกิดรูปหกเหลี่ยมทั่วพื้นผิวลาวา เมื่อการเย็นตัวของลาวาลามลึกลงไปถึงชั้นแผ่นหินบะซอลต์ แท่งเสารูปหกเหลี่ยมก็เกิดขึ้น



       ลาวาชั้นบนสุดซึ่งเย็นตัวก่อนจะหดตัวและแตกเป็นรูปหลายเหลี่ยมด้านเท่า คล้ายๆ กับโคลนซึ่งแตกบนก้นแม่น้ำอันแห้งงวด ขณะที่หินในระดับลึกลงไปเย็นและหดตัวลง รอยแตกบนผิวก็ลามลึกลงไปตลอดเนื้อลาวา ทำให้หินแยกออกเป็นเสาตั้ง ตลอดระยะหลายพันปี พลังของน้ำทะเลก็ค่อยๆ กัดเซาะแท่งหินบะซอลต์อันทนทานทำให้มันมีความสูงต่างกัน ความช้าเร็วของการเย็นตัวของลาวา ทำให้แท่งหินมีสีสันต่างกันออกไป ขณะที่หินเย็นลง มันจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน หินจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีน้ำตาล สีเทา และสีดำในที่สุด



ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.oknation.net/